ช่วยแปล


ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ภัยคุกคาม 9 ประเภท

ภัยคุกคาม จำนวน 9 ประเภท มีความหมาย ดังนี้

    1.1) ภัยยาเสพติด หมายถึง ภัยจากยาหรือสารเคมีหรือวัตถุชนิดใด ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ หรือจากการสังเคราะห์ ที่เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย โดยวิธีการกิน ดม สูบ ฉีด หรือวิธีใดเป็นช่วงระยะเวลานาน หรือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท ทำให้ร่างกายทรุดโทรมและต้องเพิ่มขนาดการเสพมากขึ้น และมีผลต่อร่างกายและจิตใจ เช่น สารระเหย ยาอี กระท่อม โคเคน เฮโรอีน แอมเฟตามิน รวมถึงเหล้า บุหรี่ เป็นต้น

    1.2) ภัยความรุนแรง หมายถึง ภัยที่เกิดจากการใช้กำลังหรือพลังทางกาย การทำร้ายจิตใจ การใช้ถ้อยคำหยาบคาย เหยียดหยาม ด่าทอ ดูหมิ่น เสียดสี ข่มเหง โดยเจตนาต่อตนเองและผู้อื่น หรือการแกล้งรังแกกันในชั้นเรียน  ครูลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ ครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน การคุกคามให้หวาดกลัว การทำลายหรือรีดไถทรัพย์สินสมบัติ กล่าวโทษผู้อื่นทำให้มีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น รวมถึง การรังแกผ่านโลกไซเบอร์ (cyber bullying) โดย ใช้อินเตอร์เน็ต เครือข่ายสังคมออนไลน์ อีเมล การส่งข้อความ SMS เพื่อสร้างความเดือดร้อนใจหรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่น เป็นต้น

    1.3) ภัยพิบัติต่างๆ หมายถึง ภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน โดยส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งประกอบด้วย

            1.3.1) อุทกภัย คือ ภัยและอันตรายที่เกิดจากสภาวะน้ำท่วมหรือน้ำท่วมฉับพลัน มีสาเหตุมาจากการเกิดฝนตกหนักหรือฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน

            1.3.2) วาตภัย คือ ภัยที่เกิดขึ้นจากพายุลมแรง ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ และสิ่งก่อสร้าง

            1.3.3) ภัยหนาว คือ ภัยที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวจัด อุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง

            1.3.4) ภัยแล้ง คือ ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อชุมชน

            1.3.5) อัคคีภัย คือ ภัยอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้าที่ขาดการควบคุมดูแล ทำให้เกิดการติดต่อลุกลามไปตามบริเวณที่มีเชื้อเพลิงเกิดการลุกไหม้ต่อเนื่อง สร้างความสูญเสียให้ทรัพย์สินและชีวิต

            1.3.6) ธรณีพิบัติภัย หมายถึง ภัยธรรมชาติที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น แผ่นดินไหว หลุมยุบ ดินถล่ม สึนามิ เป็นต้น ถือเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้น โดยฉับพลัน และรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ

    1.4) อุบัติเหตุ หมายถึง ภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดและไม่ตั้งใจ โดยไม่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า แต่มีสาเหตุและส่งผลกระทบที่เป็นผลเชิงลบ เช่น อุบัติเหตุจากการเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน อุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ อุบัติเหตุจากการเล่นน้ำ เป็นต้น

    1.5) โรคอุบัติใหม่ หมายถึง โรคติดเชื้อชนิดใหม่ มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในอนาคต เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นต้น

         โรคอุบัติซ้ำ หมายถึง โรคติดเชื้อที่เคยแพร่ระบาดในอดีตกลับมาระบาดขึ้นอีก เช่น โรควัณโรค โรคไข้เลือดออก และโรคมือ เท้า ปาก เป็นต้น

    1.6) ฝุ่น PM 2.5 หมายถึง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย โดยตัวฝุ่นเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท และสารก่อมะเร็งอื่นๆ หากได้รับฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน หรือสะสมในร่างกาย จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังหรือมะเร็งปอด เป็นต้น

    1.7) การค้ามนุษย์ หมายถึง การจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัยหรือการรับไว้ซึ่งบุคคลด้วยความมิชอบตามกฎหมาย ด้วยวิธีการขู่เข็ญ การใช้กำลัง การบีบบังคับ การลักพาตัว การฉ้อโกง การหลอกลวง การใช้อำนาจโดยมิชอบ มีการให้ หรือรับเงิน หรือผลประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมของบุคคล รวมถึงการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่น การแสวงประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การกระทำอื่นเสมือนการเอาคนลงเป็นทาส การทำให้ตกอยู่ใต้บังคับ หรือการตัดอวัยวะออกจากร่างกาย

    1.8) การคุกคามในชีวิตและทรัพย์สิน หมายถึง การแสดงอำนาจด้วยกิริยาหรือวาจา เป็นพฤติกรรมที่กระทำอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยการเฝ้าติดตาม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและข่มขู่ ทำให้เหยื่อเกิดความตกใจ หวาดกลัว เช่น การข่มขู่เหยื่อว่าจะทำอันตรายให้ถึงแก่ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน เป็นต้น

    1.9) อาชญากรรมไซเบอร์ หมายถึง ความผิดที่กระทำขึ้นต่อปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มของปัจเจกบุคคลด้วยเหตุจูงใจทางอาญา มีเจตนาทำให้เหยื่อเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจของเหยื่อทั้งทางตรง ทางอ้อม โดยใช้เครือข่ายโทรคมนาคมสมัยใหม่ เช่น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายสังคมออนไลน์ (ห้องแช็ต อีเมล กระดานประกาศ และกลุ่มข่าว) โทรศัพท์เคลื่อนที่ (เอสเอ็มเอส/เอ็มเอ็มเอส) เป็นต้น

ข้อแนะนำ :  สถานศึกษามีการจัดสภาพแวดล้อมและสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีความปลอดภัยที่เป็นแบบอย่างได้ จำแนกเป็น

  • การจัดสภาพแวดล้อมที่ให้ผู้เรียนมีความปลอดภัย หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมภายในสถานศึกษาให้เอื้อต่อความปลอดภัยของผู้เรียน เช่น การจัดอาคารสถานที่ไม่ให้มีมุมอับ การแสดงสัญลักษณ์พื้นที่อันตราย และการตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุงบริเวณตามจุดต่าง ๆ ของสถานศึกษาอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ประตู/รั้วโรงเรียน อาคารเรียน ห้องเรียน สนามเด็กเล่น โรงอาหาร ห้องน้ำ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น
  • ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความปลอดภัย หมายถึง การสร้างหรือพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในสถานศึกษาให้ผู้เรียนมีความปลอดภัย เช่น มีป้ายประชาสัมพันธ์ข้อปฏิบัติการใช้สถานที่ สนามกีฬา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น 

กิจกรรมที่ส่งเสริม
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีรับข้อติชมครับ